เรื่องน่ารู้ ซูคราโลส (Sucralose) สารทดแทนความหวาน
– ซูคราโลส (Sucralose) มีชื่อทางการค้าที่รู้จักกันคือ สเปลนดา (Splenda) ในไทยมีชื่อทางการค้าว่า ดีเอต (D-ET) – ซูคราโลส (Sucralose) ผลิตจากการใช้น้ำตาลซูโครสเป็นสารตั้งต้น แล้วแทนที่กลุ่มไฮดรอกซิล 3 ตำแหน่งด้วยอะตอมสารคลอไรด์ ทำให้มีสูตรโครงสร้างคล้ายกับน้ำตาล แต่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ มีลักษณะเป็นผลึกแข็งสีขาวร่วน ละลายน้ำได้ดี
– ซูคราโลส (Sucralose) เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Sugar Substitute) ซึ่งมีความหวานสูงถึง 600 เท่าของน้ำตาลทราย
ไม่มีรสขม และ ทนความร้อนในกระบวนการทำอาหารได้ดี ไม่มีพลังงาน ไม่มีผลต่อระดับของอินซูลินและระดับน้ำตาล และไม่ทำให้ฟันผุด้วย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือ คนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
– เนื่องจากซูคราโลสมีความหวานสูงมาก ดังนั้น จึงใช้ในปริมาณน้อยมาก ทำให้จำเป็นต้องหาสารประกอบอื่นมาผสมเพื่อเพิ่มปริมาณบรรจุซอง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะมีการใช้ร่วมกับสารให้ความหวานที่อยู่ใน กลุ่มที่เรียกว่า แอลกอฮอล์ของน้ำตาล (Sugar alcohol) หรือโพลีออล (Polyols) โดยทั่วไปจะมีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทราย เช่น มอลติตอล (Maltitol) มีความหวานเท่ากับ 90-95% ของน้ำตาลทรายและให้พลังงานเท่ากับ 2.1 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม, ซอร์บิทอล (Sorbitol) มีความหวานเท่ากับ 60% ของน้ำตาลทรายและให้พลังงานเท่ากับ 2.6 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม
– อิริทริทอล (Erythritol) มีความหวานเท่ากับ 70% ของน้ำตาลทรายและให้พลังงานเท่ากับ 0.2 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม สารให้ความหวานในกลุ่มแอลกอฮอล์ของน้ำตาลนี้มีข้อดีตรงที่ดูดซึมช้าและไม่ สมบูรณ์ จึงไม่ทำให้มีการหลั่งอินซูลินรวดเร็วเหมือนน้ำตาลกลูโคสหรือน้ำตาลทราย จึงใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้ดี แต่หากรับประทานในปริมาณสูงอาจทำให้ท้องเดินได้ (เช่น ซอร์บิทอล สูงกว่า 50 กรัมต่อวัน)
– มีการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของซูคราโลสมากกว่า 100 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของซูคราโลสต่อสิ่งแวดล้อมอีกกว่า 40 ชิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าซูคราโลสไม่มีผลต่อระบบนิเวศน์
– การศึกษาด้านความปลอดภัยของซูคราโลสมีการศึกษาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาเรื่องเภสัชจลนศาสตร์ การก่อกลายพันธุ์ ความเป็นพิษต่อการสืบพันธุ์ ผลต่อทารกในครรภ์ ผลต่อการเกิดมะเร็ง ผลต่อระบบประสาท และผลต่อระบบภูมิต้านทาน จากการทดลองซูคราโลสในระดับต่างๆ ไม่พบความเป็นพิษ และไม่เป็นสารก่อมะเร็ง
– องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ให้การยอมรับความปลอดภัยของซูคราโลสตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ทำให้ประเทศต่างๆ มากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เช่น แคนาดา อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ได้ให้การยอมรับการใช้สารนี้ในอาหาร และถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ทั่วโลกกว่า 4,000 ชนิด
– ข้อสรุปเรื่องความปลอดภัยในขณะนี้ คือ ไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีพิษสะสมในร่างกาย ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง ไม่มีผลต่อยีน ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตร ไม่มีผลต่อระดับอินซูลินและระดับน้ำตาล ปลอดภัยสำหรับเด็ก ซูคราโลสในปริมาณที่ถูกดูดซึมเข้าร่างกายจะถูกขับออกทางปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะขับออกทางอุจจาระโดยไม่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์กับระบบ ย่อยอาหาร
– ปริมาณของซูคราโลส ที่คนเราสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย (ADI) = 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
– อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตจากนักวิชาการว่า การศึกษาวิจัยความปลอดภัยของซูคราโลสที่ว่ามี 110 ชิ้น เป็นการศึกษาในมนุษย์ จำนวน 2 ชิ้น เท่านั้น ที่เหลือเป็นการทำในสัตว์ทดลอง ซึ่งถือว่ายังไม่ครอบคลุมในทุกประเด็นของความปลอดภัย รวมทั้งผลต่อร่างกายเมื่อใช้ซูคราโลสในระยะยาวด้วย
– ซูคราโลส จัดเป็นสารให้ความหวานที่ค่อนข้างใหม่ (เมื่อเทียบกับสารให้ความหวานตัวอื่น) จึงยังมีการศึกษาวิจัยที่ไม่มากนัก และยังต้องติดตามผลของการใช้ซูคราโลสในระยะยาวต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
1. ศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข “ซูคราโลส (Sucralose) สารให้ความหวาน”
2. ศัลยา คงสมบูรณ์เวช, “บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร” อมรินทร์สุขภาพ, 2551
3. รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “ เป็นเบาหวาน…เลือกอะไรใส่กาแฟแทนน้ำตาล”
4. ภก.วีรวิชญ์ พลายงาม Vcanfit สุขภาพดีได้…ง่ายจัง: ซูคราโลส (Sucralose) ปลอดภัยไหม?